อิกอร์ เฟโดโรวิช สตราวินสกี้ (รัสเซีย: ?????? ????????? ????????????; อังกฤษ: Igor Stravinsky; 17 มิถุนายน ค.ศ. 1882 — 6 เมษายน ค.ศ. 1971)) เป็นคีตกวีดนตรีคลาสสิกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวรัสเซีย
สตราวินสกี้เป็นบุตรชายของนักร้องชื่อดังแห่งโรงละครหลวง เขาเกิดที่เมืองออรานีนบาม (Oranienbaum) ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนเป็นชื่อ โลโมโนซอฟ (Lomonosov) ใกล้กับนครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย เขาเรียนด้านกฎหมายกับเปียโน ก่อนที่จะมาเป็นศิษย์ของนิโคไล ริมสกี้-คอร์ซาคอฟ บทเพลงชื่อดังชิ้นแรกของเขาได้แก่ วิหคเพลิง (ค.ศ. 1910 ด้วยการจ้างของแซร์จ เดียกิเลฟ เพื่อใช้แสดงในคณะบัลเลต์รัสเซีย ตามมาด้วยเพลง เปทรูชก้า (ค.ศ. 1911) พิธีบูชายัญในฤดูใบไม้ผลิ (ค.ศ. 1913) และอุปรากร เรื่อง นกไนติงเกล (ค.ศ. 1914) มีเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับบัลเลต์เรื่อง พิธีบูชายัญในฤดูใบไม้ผลิ ทั้งจากท่าเต้น และความไม่เหมือนใครของดนตรีประกอบ ทำให้สตราวินสกี้กลายเป็นคีตกวี ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20
สตราวินสกี้เสียชีวิตที่นิวยอร์ก ศพของเขาถูกฝังไว้ที่สุสานซาน มิเชลในนครเวนิซ ประเทศอิตาลี
สตราวินสกี้เป็นคีตกวีหนึ่งในสองคนที่ปฏิวัติแนวคิดทางดนตรีของคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่างสำคัญ อีกคนหนึ่งคือ อาร์โนลด์ เชินแบร์ก (Arnold Schoenberg) สตราวินสกี้มีอิทธิพลอย่างสูงในด้านของแนวคิดเรื่องจังหวะที่ไม่ปกติที่เรียกว่า "อิเร็กกูลาร์ ริทึม" (Irregular Rhythm) แนวคิดทางด้านการใช้บันไดเสียงหลาย ๆ บันไดพร้อมกันที่เรียกว่า "โพลีโทนัลลิตี" (Polytonality) และเป็นผู้นำหนึ่งในสองคนของกระแสดนตรีที่เรียกว่า "นีโอคลาสสิค" (Neo-classicism) (อีกคนคือ พอล ฮินเดมิธ (Paul Hindemith) หลังจากที่เชินแบร์ก เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1951 แล้ว สตราวินสกี้ได้นำเอาเทคนิคในการประพันธ์ดนตรีที่เรียกว่า "ระบบอนุกรม" หรือ "ซีเรียลิซม์" (Serialism) มาใช้แต่ยึดตามแนวทางที่มีลักษณะเป็นคณิตศาสตร์ในแบบของ เวเบิร์น (Anton Webern) มากกว่า
ดนตรีในลักษณะนีโอคลาสสิค ที่เขาเป็นผู้ปลุกกระแสขึ้นมานั้นส่งอิทธิพลต่อคีตกวีมากมาย เช่น กลุ่มคีตกวีทั้งหก หรือ "เลส์ ซิกซ์" (Les Six) ในฝรั่งเศส นาเดีย บูลองเช (Nadia Boulanger) ครูดนตรีและคีตกวีหญิงชาวฝรั่งเศส ได้สอนวิธีการประพันธ์และลักษณะดนตรีแบบสตราวินสกี้ให้แก่คีตกวีอเมริกันคนสำคัญ ๆ เช่น แอรอน คอปแลนด์, เวอร์จิล ทอมป์สัน และเอลเลียต คาร์เตอร์ เป็นต้น